หลายคนอาจเข้าใจผิดว่า โรคงูสวัด แค่ทายาให้ผื่นหายก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงแล้วการทำเช่นนี้ไม่ใช่การรักษาที่ตรงจุด และไม่สามารถหยุดไวรัสจากต้นทางได้เลย
งูสวัด (Herpes zoster) เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella-zoster virus) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส และเชื้อจะแฝงตัวอยู่ในปมประสาทของร่างกาย
เมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อไวรัสนี้ก็จะถูกกระตุ้นขึ้นมาใหม่ เดินทางมาตามแนวเส้นประสาท และแสดงอาการออกมาเป็นผื่น และตุ่มน้ำตามแนวเส้นประสาท
โดยในระยะเริ่มต้น จะมีอาการคัน ปวดแสบ ปวดร้อนบริเวณผิวหนังที่กำลังจะมีผื่นขึ้น อาจมีอาการปวดตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย
ลักษณะผื่น งูสวัด
- เกิดผื่นแดงบริเวณที่คัน – หลังเริ่มมีอาการ 1-3วัน (หรืออาจนานกว่านั้น)
- กลายเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ขนาดเล็ก – โดยตุ่มน้ำใส ๆ เหล่านี้จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม บริเวณผิวหนังที่มีผื่นแดง
- เกิดตามแนวเส้นประสาท – โดยมักจะเกิดเพียงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย ไม่ข้ามแนวกลางลำตัว
- เกิดตุ่มน้ำใสใหม่ ๆ – ทำให้บริเวณเดียวกันเกิดตุ่มหลายระยะ
- ตุ่มน้ำใส ๆ กลายเป็นตุ่มหนอง – จากนั้นจะค่อย ๆ แห้ง และตกสะเก็ด
ทำไมแค่ ‘ทายารักษาผื่น’ ถึงไม่พอ ?
การทายาช่วยดูแลแค่ผิวหนัง เช่น ลดอาการคัน ป้องกันติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน แต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุ ดังนั้น ไม่ว่าจะขึ้นที่ส่วนใดของร่างกาย การรักษาต้องมุ่งจัดการที่เชื้อไวรัส ไม่ใช่แค่ให้ผื่นหายไปเท่านั้น
หากไม่จัดการที่ต้นเหตุหรือก็คือเชื้อไวรัส งูสวัดจะยังคงทำลายเส้นประสาทมากขึ้น อาจลุกลาม และเพิ่มความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น
- ภาวะปวดปลายประสาทเรื้อรัง – เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุด มีอาการปวดแสบ ปวดร้อน คล้ายถูกไฟช็อต ตามแนวที่เคยเป็นงูสวัด แม้ผื่นจะหายไปหมดแล้วก็ตาม
- งูสวัดขึ้นตา – เกิดขึ้นเมื่อเชื้อไวรัสทำลายเส้นประสาทสมอง และลามเข้าสู่ดวงตา อาจทำให้เกิดการอักเสบและเสียหายที่กระจกตา ม่านตา จอประสาทตาหรือส่วนอื่น ๆ ของตา
- โรคหลอดเลือดในสมอง – อาจเกิดจากการที่เชื้อไวรัสไปทำให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดในสมอง นำไปสู่การตีบตันหรืออุดตันของหลอดเลือด
- อัมพฤกษ์ อัมพาตบางส่วน – เชื้อไวรัสอาจกระทบเส้นประสาทสำคัญ เช่น ใบหน้า แขน ขา ส่งผลให้เกิดอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเคลื่อนไหวผิดปกติ
ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นงูสวัด
- ทานยาต้านไวรัสตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังเกิดอาการ จะช่วยลดความรุนแรง และระยะเวลาของโรค
- หลีกเลี่ยงการแกะหรือเกาตุ่มผื่น เพราะอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือเกิดแผลเป็นได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ และมีคุณภาพ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อน และซ่อมแซมตัวเอง
- หลีกเลี่ยงความเครียด เนื่องจากความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดงูสวัดได้
ดังนั้น การดูแลตัวเอง และรักษางูสวัดให้ได้ผล ไม่ใช่แค่การทายาเพื่อรักษาผื่น แต่หัวใจสำคัญคือการรักษาให้ตรงจุดโดยมุ่งเป้าไปที่เชื้อไวรัสจากต้นทาง ด้วยยาต้านไวรัส ตามคำแนะนำของแพทย์ให้เร็วที่สุด ซึ่งไม่เพียงช่วยให้หายเร็วขึ้น แต่เป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้อีกด้วย
อ้างอิง : ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาการุณย์, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลไทยนครินทร์
