การสำลักอาหาร คือ ภาวะที่อาหารหรือของเหลวที่ควรลงสู่หลอดอาหาร กลับพลัดหลงเข้าไปในหลอดลม ส่งผลให้เกิดอาการไอรุนแรง หายใจติดขัด
หรือในบางรายอาจไม่มีอาการไอชัดเจนแต่มีเศษอาหารเล็ดลอดเข้าหลอดลมทีละน้อย เรียกว่าสำลักเงียบ ซึ่งในผู้สูงวัยมีความเสี่ยงเกิดภาวะนี้สูงมาก และหากไม่ได้รับการดูแลหรือป้องกันอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่โรคปอดอักเสบหรือเสียชีวิตได้
สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงวัยสำลักอาหาร
- กล้ามเนื้อการกลืนอ่อนแรง เนื่องจากความเสื่อมของร่างกายตามวัย ทำให้กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการกลืนอ่อนแรงลง การประสานงานของระบบประสาทในการควบคุมการกลืนก็ลดประสิทธิภาพลงเช่นกัน
- ช่องปากแห้ง น้ำลายน้อย ทำให้กลืนได้ลำบาก เพิ่มความเสี่ยงที่อาหารจะหลุดเข้าไปในทางเดินหายใจ จนเกิดการสำลักได้
- การเคี้ยวไม่ละเอียด จากปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน เช่น ฟันไม่ครบหรือฟันปลอมไม่พอดี
- โรคทางระบบประสาท เช่น พาร์กินสัน หรือโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกระบวนการกลืน
สัญญาณเตือนว่าผู้สูงวัยอาจมีปัญหาการสำลัก
- ไอหรือสำลักบ่อยครั้งระหว่างหรือหลังรับประทานอาหารและดื่มน้ำ
- มีเสียงแหบพร่า หรือเสียงเหมือนมีเสมหะในคอหลังกลืนอาหาร
- รู้สึกเหมือนมีอาหารติดอยู่ในลำคอหรือหน้าอก
- ต้องใช้เวลานานในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ
- น้ำลายไหลหรือมีเศษอาหารตกค้างในช่องปากหลังกลืน
อันตรายจากการสำลักอาหาร
ปอดอักเสบจากการสำลัก
เป็นอันตรายที่พบบ่อยและรุนแรงที่สุด เกิดจากเศษอาหาร น้ำ หรือแม้แต่น้ำลายและเสมหะในช่องปากหลุดเข้าไปในหลอดลมและปอดแทนที่จะลงหลอดอาหาร ทำให้เกิดการติดเชื้อ และอักเสบอย่างรุนแรงในปอด
ภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ
หากสำลักอาหารชิ้นใหญ่ อาจทำให้หลอดลมถูกปิดกั้นอย่างฉับพลัน ทำให้หายใจไม่ออก ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
วิธีป้องกันการสำลักอาหาร
- เลือกอาหารที่อ่อน นุ่ม เคี้ยวง่าย
- หั่นอาหารให้พอดีคำ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
- นั่งตัวตรงขณะทานอาหาร
- สังเกตอาการผิดปกติระหว่างรับประทานทุกครั้ง
- หากมีโรคประจำตัวหรือเคยมีอาการสำลัก ควรปรึกษาแพทย์
การสำลักอาหารในผู้สูงวัยเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ป้องกันได้ การใส่ใจดูแล ปรับอาหารให้เหมาะสม ระมัดระวังขณะรับประทานอาหาร และปรึกษาแพทย์เมื่อพบสัญญาณผิดปกติ จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันอันตราย และให้ผู้สูงวัยได้รับประทานอาหารได้อย่างปลอดภัย

แหล่งที่มา : โรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลธนบุรี, โรงพยาบาลนครธน