หลายคนอาจสับสนกับอาการหลังดื่มนมวัวหรือทานผลิตภัณฑ์จากนม ว่าเป็นอาการแพ้แลคโตสหรือแพ้นมวัวกันแน่ เพราะทั้งสองภาวะนี้มีอาการบางอย่างที่คล้ายคลึงกัน แต่ความจริงแล้วมีสาเหตุการเกิดที่ต่างกัน มาทำความเข้าใจความแตกต่างของทั้งสองภาวะนี้ให้ชัดเจนขึ้นกันดีกว่า
ภาวะแพ้แลคโตส (Lactose Intolerance)
สาเหตุ
เกิดจากร่างกายขาดเอนไซม์แลคเตส ซึ่งมีหน้าที่ย่อยน้ำตาลแลคโตสในนม เมื่อแลคโตสไม่ถูกย่อย และดูดซึมที่ลำไส้เล็ก จะส่งผลให้เกิดการหมักในลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดแก๊ส และอาการต่าง ๆ ตามมา
อาการ
- ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะ รู้สึกอึดอัด แน่นท้อง
- ปวดท้องบริเวณท้องน้อย หรือรอบสะดือ
- ท้องเสีย อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
- บางรายอาจมีอาการท้องผูก แต่พบได้ไม่บ่อยเท่าอาการท้องเสีย
โรคแพ้นมวัวหรือโรคแพ้โปรตีนในนมวัว (Cow’s Milk Allergy, Cow milk protein allergy)
สาเหตุ
เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนในนมวัวอย่างผิดปกติ โดยมองว่าโปรตีนเหล่านั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดอาการแพ้
อาการ
- ระบบทางเดินอาหาร – อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้อง
- ผิวหนัง – ผื่นแดง ผื่นคัน ผิวหนังอักเสบ ลมพิษ
- ระบบทางเดินหายใจ – น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ หายใจมีเสียงหวีด หอบหืด
- อาการรุนแรง (Anaphylaxis) – ในกรณีที่รุนแรง อาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรง เช่น หายใจลำบาก ความดันโลหิตต่ำ หมดสติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
การดูแลตัวเองเมื่อแพ้แลคโตส
- หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณนมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต ไอศกรีม เนย
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแลคโตส (Lactose-free)
- ทานนม และผลิตภัณฑ์จากนมในปริมาณน้อย หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ลองทานในปริมาณน้อย ๆ และสังเกตอาการ หากไม่มีอาการผิดปกติ ก็สามารถค่อย ๆ เพิ่มปริมาณได้
- ทานอาหารที่มีแคลเซียม และวิตามินดีสูงเพื่อทดแทน เช่น ปลา ผักใบเขียว เต้าหู้
การดูแลตัวเองเมื่อแพ้นมวัว
- หลีกเลี่ยงนมวัว และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัวอย่างเคร่งครัด
- เลือกทานนมจากพืชเพื่อทดแทน เช่น นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมข้าวโอ๊ต นมมะพร้าว นมข้าว
- ระมัดระวังอาหารที่อาจมีนมวัวเป็นส่วนผสม
ภาวะแพ้แลคโตสเป็นปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร ในขณะที่การแพ้โปรตีนนมวัวเป็นปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกัน การสังเกตอาการ และเข้าใจความแตกต่างของทั้งสองภาวะจะช่วยให้คุณดูแลสุขภาพของตนเอง และคนในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
แหล่งที่มา : โรงพยาบาลพญาไท, กรมอนามัย
