มะเร็งปอด ภัยเงียบใกล้ตัว แม้ไม่สูบ ก็ยังเสี่ยง

มะเร็งปอด ภัยเงียบใกล้ตัว แม้ไม่สูบ ก็ยังเสี่ยง

มะเร็งปอดเป็นภาวะที่เซลล์ในปอดเจริญเติบโตผิดปกติ และไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เกิดเนื้องอกร้าย และอาจแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

โรคนี้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองของคนไทย รองจากมะเร็งตับและท่อน้ำดี โดยพบผู้ป่วยรายใหม่เฉลี่ยวันละ 48 คน หรือ 17,222 คนต่อปี และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 40 คน

อาการของโรคมะเร็งปอด

  • ไอเรื้อรัง ไอแห้ง หรือไอมีเสมหะปนเลือด
  • เจ็บหน้าอก โดยเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึกๆ หรือไอ
  • หายใจลำบาก หายใจถี่ หรือมีเสียงหวีดขณะหายใจ
  • เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
  • น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

ในขณะที่หลายคนมักเข้าใจว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลัก แต่ความจริงแล้วยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้เช่นกัน

มลภาวะทางอากาศ – โดยเฉพาะ ฝุ่น PM 2.5 ที่เราหายใจเข้าไปตลอดเวลา ฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้สามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอด และกระแสเลือด ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง นำไปสู่การอักเสบ ติดเชื้อ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดในระยะยาว

ควันบุหรี่มือสอง (Secondhand Smoker) – การได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่นหรือที่เรียกว่า ควันบุหรี่มือสอง เป็นอันตรายไม่แพ้การสูบบุหรี่โดยตรง เนื่องจากผู้ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะได้รับสารเคมีกว่า 7,000 ชนิด ซึ่งในจำนวนนี้มีถึง 70 ชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง

สารพิษในสิ่งแวดล้อม – สารพิษบางชนิดที่พบในสิ่งแวดล้อมสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดได้ เช่น แร่ใยหิน (Asbestos) ที่อาจพบในวัสดุก่อสร้าง และก๊าซเรดอน (Radon) ที่พบตามธรรมชาติในดิน หิน และแร่ยูเรเนียม สารเหล่านี้อาจสะสมในปอดและเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง

โรคเกี่ยวกับปอด – ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอด เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปอดอักเสบเรื้อรัง หรือวัณโรคปอด มีแนวโน้มที่จะเกิดการอักเสบของปอด ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็ง

พันธุกรรม – อีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพิจารณา เพราะหากมีบุคคลในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งปอด ก็อาจมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมที่เพิ่มขึ้น

และอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจกระตุ้นคือ การติดเชื้อ COVID-19 เนื่องจาก COVID-19 ส่งผลกระทบต่อปอด ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของปอดลดลง เมื่อปอดไม่แข็งแรง ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอดได้สูงขึ้น เมื่อเจอสิ่งเร้าต่าง ๆ ข้างต้น

ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลโรคมะเร็งปอด

  • พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหากไม่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการสูดดมฝุ่น PM 2.5 โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีควันบุหรี่
  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด รวมถึงสถานที่ที่มีมลพิษ
  • สวมหน้ากากอนามัยที่แนบสนิทกับใบหน้า รุ่นกันฝุ่น เพื่อหลีกเลี่ยงมลภาวะ
  • เลือกใช้เครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

เมื่อรับรู้ถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งปอดแล้ว การเริ่มต้นดูแลสุขภาพปอดของเราตั้งแต่วันนี้ ก็ยังไม่สายเกินไปหรือหากรู้ตัวเร็วก็สามารถรักษาให้หายได้

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งเพิ่มเติม สามารถเข้ามาปรึกษากับเราได้ที่ Avatar Clinic การแพทย์แผนไทย ยินดีให้คำปรึกษาครับ

แหล่งที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โรงพยาบาลพญาไท, กรมการแพทย์, โรงพยาบาลนครธน, โรงพยาบาลเพชรเวช

ไม่สูบบุหรี่ก็เป็นมะเร็งปอดได้
Scroll to Top